การจดภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่งตามกฎหมายประมวลรัษฎากร ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 7% ของราคาสินค้า หรือการให้บริการภายในประเทศ และการนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นต้น
1. หลักการภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำมาใช้จัดเก็บในประเทศไทยเป็นระบบภาษีที่มุ่งจัดเก็บจากการบริโภค โดยจะไม่จัดเก็บจากการลงทุน จึงยอมให้ผู้ประกอบการนำ "ภาษีซื้อ" จากการลงทุนในทรัพย์สินมาเครดิตหักออกจาก "ภาษีขาย" ทำให้ภาระต้นทุนในการประกอบการต่ำลง และไม่ก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บภาษี
2. ผู้มีหน้าที่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้ประกอบกิจการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเป็นปกติธุระ เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งมีแผนงานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ได้มีการดำเนินการ และเตรียมการประกอบกิจการอันเป็นเหตุให้ต้องมีการซื้อสินค้า หรือรับบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เช่น การก่อสร้างโรงงาน ก่อสร้างอาคารสำนักงาน หรือการติดตั้งเครื่องจักร ผู้ประกอบการอยู่นอกราชอาณาจักร และได้ขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระ โดยมีตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักร ให้ตัวแทนเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการจดทะเบียน
3. ธุรกิจที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าพืชผลทางการเกษตร สัตว์ไม่ว่ามีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ปุ๋ย ปลาป่นอาหารสัตว์ ยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน
ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายและมีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรโดยท่าอากาศยาน
การส่งออกของผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
การให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อในราชอาณาจักร
4. เอกสารที่ใช้จดภาษีมูลค่าเพิ่ม
สัญญาเช่าอาคารที่เป็นที่ตั้งสถานประกอบการปิดอากรแสตมป์ (กรณีเช่า)
หรือหนังสือยิยอมให้ใช้สถานที่เป็นสถานประกอบการ (กรณีเจ้าของให้ใช้โดยไม่ได้ค่าตอบแทน)
สำเนาทะเบียนบ้านที่ตั้งสถานประกอบการ
สำเนาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า/ผู้ยินยอม เช่น การเป็นเจ้าบ้าน สัญญาซื้อขาย คำขอเลขที่บ้าน ใบโอนกรรมสิทธิ์ สัญญาเช่าช่วง
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านสถานประกอบการของผู้ให้เช่าหรือผู้ยินยอม หนังสือรับรองนิติบุคคล (กรณีนิติบุคคลเป็นผู้ให้เช่า)
แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานประกอบการโดยสังเขป พร้อมภาพถ่ายสถานประกอบการที่แสดงให้เห็นบ้านเลขที่
หนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ของผู้มีอำนาจลงนาม
สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทพร้อมวัตถุประสงค์
5. วิธีการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม
การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถกระทำได้ 2 ช่องทาง ดังนี้
ยื่นแบบคำขอผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่ www.rd.go.th
ยื่นแบบคำขอด้วยกระดาษ ณ สรรพากรพื้นที่ ตามที่ตั้งสถานประกอบการ
Tags : ทำไมต้องจดทะเบียนบริษัท | จดหจก กับ บริษัท ต่างกันอย่างไร | จดทะเบียนประกันสังคม | จดภาษีมูลค่าเพิ่ม Vat